ufabet ทีเด็ด บอล วันนี้ ราคา บอล

ราล์ฟ รังนิก “ทางเลือกน่าสนใจของทัพสาลิกาดง”

     นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ช่วงนี้ทำอะไรก็กลายเป็นข่าวได้ตลอด หลังจากทีมกลายเป็นสใมสรที่มีเจ้าของสโมสรรวยที่สุดในโลก โดยถือหุ้นจำนวน 80 % ของสโมสร เตรียมจะลงสนามในเกมพรีเมียร์ ลีก กันแล้วในสุดสัปดาห์นี้ โดยจะเปิดบ้านพบกับ สเปอร์ส ซึ่งตั๋วขายหมดเรียบร้อยเพียงหนึ่งวันหลังการประกาศเทคโอเวอร์

 

     อแมนด้า สเตฟลีย์ ผู้บริหารที่มีหุ้น 10 % ในมือ อาจเป็น “ส่วนน้อย” ในจำนวนหุ้น แต่คือ “ส่วนมาก” ในการบริหารทีม เข้ามาชมการซ้อมถึงสนามซ้อมที่ ดาร์สลีย์ พาร์ค และมีการทักทายกับ นักเตะในทีมเรียบร้อย ขณะที่ สตีฟ บรู๊ซ ผู้จัดการทีมที่อนาคตไม่แน่นอน มีรายงานว่าพบกับเจ้าของทีมคนใหม่แล้ว แต่จะได้คุมทีมต่อไปไหม เชื่อกันว่า “ไม่น่ารอด” ท่ามกลางข่าวลือ “นายใหญ่คนใหม่” รวมถึงแผนการซื้อขายนักเตะในตลาดเดือนมกราคม 2022 มีให้อ่านทุกวัน รอลุ้นกันได้คงเป็นตลาดที่สุดแสนจะคึกคักสำหรับทีมขาวดำแห่งนี้อย่างแน่นอน

 

     โครงสร้างหลักของทีมในฝ่ายบริหารชัดเจนไปแล้วบางส่วน ยาเซอร์ อัล-รูเมย์ยาน รับหน้าที่เป็นประธานสโมสร, อแมนด้า สเตฟลีย์ เป็นหนึ่งในบอร์ดบริหาร และอีกคนคือ เจมี่ รูเบน แห่ง อาร์บี สปอร์ต แอนด์ มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหุ้น 10 % ในทีม รับงานเป็นผู้อำนวยการสโมสร

 

     อย่างไรก็ตามอีกข่าวที่น่าสนใจมากอีกข่าวหนึ่งก็คือ เรื่องของการเตรียมมองหา “ผู้อำนวยการกีฬา” ของสโมสร ซึ่งพวกเขามีข่าวกับ ราล์ฟ รังนิก (63 ปี สัญญาถึงกลางปี 2024) ผู้อำนวยการกีฬา และสื่อสารมวลชน สโมสร โลโคโมทีฟ มอสโก เป็นทางเลือกที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับสาลิกาดง ตามรายงานจาก เดอะ โครนิเคิล สื่อท้องถิ่นของนิวคาสเซิ่ล

 

ทำไมถึงน่าสนใจ วันนี้ผมหยิบเรื่องราวของเขาคนนี้มาให้อ่านกันครับ

“ผู้จัดการทีม - นักคิด - ผู้บริหาร”

     “ผู้จัดการทีม – นักคิด – ผู้บริหาร” คือสถานะที่ รังนิก เคยผ่านมาหมดแล้วในอาชีพ หลังจากที่เขาผู้ซึ่งเคยลงเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรับมาก่อน ตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ ตั้งแต่อายุไม่ถึง 30 ปีเต็ม และไม่ประสบความสำเร็จใดเลย แต่ตรงกันข้ามกับการบริหารทีม ซึ่งมาถึงวันนี้เขาผ่านงานมาแล้วมากกว่า 10 สโมสร นับจากในปี 1983 ที่เขาตัดสินใจรับงานเป็น “ผู้เล่น-โค้ช” ของสโมสร วิคตอเรีย แบคแนง สโมสรในเยอรมัน บ้านเกิดของเขา ซึ่งเขาบอกว่างานโค้ชเป็นสิ่งที่เขาฝันถึง และเริ่มต้นก่อนการเป็นนักเตะอาชีพ

 

     “การเป็นจ๊อคกี้ที่ดีไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นม้ามาก่อน” วลีของ อาร์ริโก้ ซาคคี่ อดีตผู้จัดการทีมชาติอิตาลี และ เอซี มิลาน เคยกล่าวเอาไว้ เขาคนนี้คือหนึ่งในต้นแบบ (อีกสองคนคือ วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ และ แอนท์ แฮปเปิ้ล) ของ รังนิก ผู้ซึ่งพิสูจน์ตัวเองมาตลอดว่าการเป็น “ยอดโค้ช” ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็น “ยอดนักเตะ” มาแล้วเท่านั้น ทุกอย่างขึ้นกับ การเรียนรู้ และความพยายาม

 

     “การเป็นยอดโค้ช ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้นำที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องฟุตบอลส่วนอื่นด้วย ถ้าคุณลองมองบุนเดสลีกา คุณจะเห็นว่ามากกว่าครึ่งจาก 18 สโมสรในลีกสูงสุด พวกเขาไม่ได้มาจากการเป็นนักเตะอาชีพ แต่พวกเขาเริ่มต้นจากการพัฒนาปรัชญาการเล่นจากจากฟุตบอลในระดับเยาวชน”

 

     “อาชีพด้านโค้ชของผมเป็นตั้งแต่ตอนอายุ 19 ส่วนอาชีพนักเตะมันหลังจากนั้น เริ่มตอนอายุ 25 ปี ในยุคนั้นมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหา “ต้นแบบ” ได้ในวงการฟุตบอลทั้งในลีกสูงสุด หรือว่าในลีกรอง ผมไม่ชอบระบบ 3-5-2 ของทีมชาติเยอรมันเลย มันเป็นระบบที่ล้าหลังมาก ผมบอกตัวเองตลอดทำไมนักเตะเยอรมันต้องเล่นแบบนั้นตลอด เล่นแบบอื่นไมได้หรืออย่างที่ เบลเยี่ยม สเปน หรือว่า เนเธอร์แลนด์ เล่นกัน มันไม่มีอะไรบังคับตายตัวเสียหน่อย”

 

     “อินทรีเหล็ก” ทีมชาติเยอรมันตะวันตก (ในเวลานั้น) เลือกใช้ระบบ 3-5-2 ที่ รังนิก มองว่าเป็นการจำกัดจินตนาการ และแนวคิดในการเล่นมากเกินไป ซึ่ง เยอรมันเองใช้ระบบ “กองหลังสามตัว” มาโดยตลอด และประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งการได้แชมป์โลกในปี 1990 หรือว่า ยูโร 1996 จนถึงช่วงยุคมืดกับการตกรอบแรกในยูโร 2000 และ ฟุตบอลโลก 2002 พวกเขาก็ยังใช้ระบบนี้ จนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบ 4 กองหลังใน ยูโร 2004 เป็นทัวร์นาเมนต์แรก (ปัจจุบันในยุคของ ฮันซี่ ฟลิค ทีมใช้งานระบบการเล่นแบบ 4-2-3-1)

 

     “ผมชอบการเล่นฟุตบอลแบบเพรสซิ่งสูง กดดันให้หนักและเล่นเกมสวนกลับ เมื่อเราได้บอล เราจะไม่ส่งบอลไปมาแบบไร้ประโยชน์ หรือส่งคืนหลัง นายทวารคือคนที่ควรจะได้รับการสัมผัสบอลน้อยที่สุด ตามทฤษฎีแล้ว นายทวารเป็นตำแหน่งที่มีเทคนิคการเล่นค่อนข้างจำกัด ดังนั้นเขาควรได้บอลน้อยที่สุด ส่วนเกมรุกต้องเล่นให้เร็ว ตื่นตัวตลอดเวลา เล่นบอลสวนกลับ เพรสซิ่งสูง นี่คือฟุตบอลที่น่าตื่นเต้น และเร้าใจ”

 

     และนั่นคือแรงบันดาลใจในการทำทีมของโค้ชเยอรมันหลายคน ไม่ว่าจะเป็น โธมัส ทูเคิ่ล, ยูเลี่ยน นาเกลสมันน์ รวมถึง เยอร์เก้น คล็อปป์ ต่างนำแนวทางการทำงานและแนวคิดของเขาไปพัฒนาทีมของตนเองจนประสบความสำเร็จกันไปทั่ว และ ณ เวลานี้ พวกเขาคือโค้ชรุ่นใหม่แถวหน้าของวงการฟุตบอลทั้งสิ้น

เส้นทางแห่ง “จุดเปลี่ยน”

     รังนิก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งการหาความรู้เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการทำงานด้านโค้ช เขารับงานกับหลายสโมสรมากทั้งในระดับทีมชุดใหญ่ หรือว่าทีมเยาวชนผ่านงานมาแล้วทั้งกับ สตุ๊ทการ์ท, ฮันโนเวอร์, ฮอฟเฟ่นไฮม์, ชาลเก้ 04 รวมถึง อาร์เบ ไลป์ซิค

 

     ปี 2012 กลายเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ครั้งหนึ่งของ รังนิก เมื่อเขาตัดสินใจหยุดการคุมทีม และเลือกรับงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร เร้ดบูลล์ ซัลบวร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในสโมสรที่มี “เร้ดบูลล์” หรือ “กระทิงแดง” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ปัจจุบันมีถึง 7 สโมสร ภายใต้การบริหารงานของกลุ่ม Red Bull GmbH) และที่นี่เองที่ทำให้เขาได้ “ปล่อยของ” อย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อทั้งผู้บริหาร – งบประมาณทำทีม และตัวลีกสามารถทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ นั่นคือการลงทุนกับ นักเตะเยาวชน ที่เลือกสรรมาจากข้อมูล และการวิเคราะห์ โดยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการพิจารณาการซื้อนักเตะเข้าสู่ทีม เช่นเดียวกับการประเมินมูลค่าของนักเตะ ที่ปล่อยออกจากทีมในราคาที่สูงกว่าเดิม สองปีกับ ซัลบวร์ก  ซึ่งเขาได้ร่วมงานกับ โรเจอร์ ชมิดท์ ผู้จัดการทีม ร่วมกันคว้าได้ทั้งแชมป์ลีก และฟุตบอลถ้วยของออสเตรีย ก่อนจะลาออกมารับงานในตำแหน่งเดียวกันในปี 2013 กับ อาร์เบ ไลป์ซิค ซึ่งเวลานั้นอยู่ในลีกาสามของประเทศ ก่อนที่ในปี 2015-2016 เขาจะพาทีมคว้าแชมป์ลีกาสองก้าวขึ้นสู่ บุนเดสลีกา ได้สำเร็จ โดยควบทั้งงานด้านผู้อำนวยการกีฬา และผู้จัดการทีมไปพร้อมกันในฤดูกาลนั้น

 

    “แมวมอง หรือทีมงานที่เกี่ยวข้องหากคุณไม่รับฟังพวกเขา มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพัฒนาทีม เราไม่สามารถพึ่งพาเอเย่นต์นักเตะเท่านั้น คุณต้องคุยกับทีมงานของคุณด้วย รับฟังความเห็นจากพวกเขา รวมถึงสิ่งที่สำคัญมากนอกจากเรื่องของความสามารถก็คือในเรื่องของบุคลิกภาพ และความพยายามที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นในทุก ๆวัน”

 

     ในช่วงเวลาที่ “กระทิงแดงแห่งเยอรมัน” รังนิก เลือกผู้เล่นเข้ามาเสริมทีมหลายคน ที่เวลานี้กลายเป็นนักเตะในสโมสรชั้นนำของยุโรปไปแล้วทั้ง นาบี เกอิต้า (ลิเวอร์พูล),  ทาคุมิ มินามิโนะ (ลิเวอร์พูล), ดาโยต์ อูปาเมกาโน่ (บาเยิร์น มิวนิค), ติโม แวร์เนอร์ (เชลซี) รวมถึงที่ยังเป็นแกนหลักของทีมอย่าง เอมิล ฟอร์สเบิร์กหรือว่า คอนราด ไลเมอร์ เข้าสู่ทีม ซึ่งเขาได้รับการสนับสนุนที่ดีเยี่ยมจากกลุ่มทุนเจ้าของสโมสร

 

     ปี 2019 เร้ดบูลล์ ดึงตัวเขาไปรับงานกับองค์กรด้วยการทำงานเป็นหัวหน้าทีมด้านกีฬาของบริษัท และเขามีส่วนอย่างยิ่งในการเทคโอเวอร์สโมสร แอตเลติโก บรากันติโน่ สโมสรในบราซิล ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เร้ดบูลล์ บรากันติโน่ เรียบร้อยแล้ว

 

     ในช่วงปี 2020 เขาได้รับข้อเสนอใหญ่จาก เอซี มิลาน แม้ว่าเขาจะไม่ได้คุมทีมแบบจริงจังมาเกือบ 5 ปีเต็มก็ตาม อย่างไรก็ตามทุกอย่างต้องจบลงด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนที่ในเดือนกรกฎาคม 2021 เขาจะกลายเป็น ผู้อำนวยการกีฬา และสื่อสารมวลชน สโมสร โลโคโมทีฟ มอสโก ในรัสเซีย

ความเป็นไปได้กับ “นิวคาสเซิ่ล”

     ตามรายงานจากสื่ออังกฤษมีความเชื่อมั่นว่า รังนิก น่าจะให้ความสนใจมากทีเดียวกับการรับงานที่มีโปรเจคต์ใหญ่ และดูจะ “เข้าทาง” กับเขาอย่างมาก รังนิก อาจไม่ใช่โค้ช หรือผู้จัดการทีมที่ได้แชมป์มากมาย แต่เขารู้ “วิธีการ” ในการวางระบบบโครงสร้างของทีม และระบบแมวมอง ซึ่งพิสูจน์มาแล้วกับหลายสโมสรที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นผลในระยะยาวของสโมสร และยิ่งหากได้ ผู้จัดการทีมที่ทำงานร่วมกันได้ลงตัว สาลิกาดง ก็ยิ่งมีโอกาสสยายปีกได้เร็วขึ้น

 

     นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด มีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไขตลอดมากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านพ้นไป พวกเขาแทบไม่มี นักเตะเยาวชนคนไหนขึ้นมาเล่นชุดใหญ่และสร้างความประทับใจ หรือผลงานดีสม่ำเสมอได้เลยแม้แต่คนเดียว เช่นเดียวกับการซื้อขายนักเตะในยุคของ ไมค์ แอชลีย์ ซึ่งต้องใช้คำว่า “สะเปะสะปะ” และ “เอาแต่ใจตัวเอง” หลายต่อหลายครั้ง บางครั้งก็พร้อมทุ่มเงินแบบไม่น่าเชื่อ และอีกหลายครั้งที่พร้อมจะรับฟังคำด่าจากแฟนบอล มากกว่าจะเลือกลงทุนสักก้อนกับนักเตะสักคน

 

     หากมองในมุมมนี้การเข้ามาของ รังนิก จะช่วยตรงนี้ได้มาก เพราะสโมสร ณ เวลานี้ต้องการปูรากฐานใหม่หมด และจากรายชื่อที่ประกาศโครงสร้างขององค์กร ณ เวลานี้ ยังไม่มีใครมีประสบการณ์ในการบริหารทีมฟุตบอลเลยแม้แต่คนเดียว ดีลของ รังนิก ยิ่งน่าสนใจอย่างมาก แม้ว่าอายุอานามจะผ่าน “แซยิด” ไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยผลงานที่ผ่านมา และการทำงานที่ทันสมัยของเขาในการสร้างทีมก็ควรลอง ยังไม่รวมถึงเรื่องของ “คอนเน็คชั่น” ในเรื่องของฟุตบอล โดยเฉพาะในเยอรมัน ที่ต้องบอกว่าแน่นปึ้ก

 

     ที่สำคัญที่สุดคือ นิวคาสเซิ่ล มี “เงินทุน” ซึ่ง รังนิก เคยกล่าวสัมภาษณ์เอาไว้ว่าเป็นหนึ่งในสามสิ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนาฟุตบอล แถมยังมีแบบ “ไม่อั้น” เสียด้วย

 

     “เงินทุน – แนวคิด – ความสามารถ คือสิ่งสำคัญในวงการฟุตบอล ธุรกิจที่ต้องใช้เงินมาก ที่ต้องเลือกลงทุนให้เหมาะสม ซึ่งนั่นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จกมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับ แนวคิด และความสามารถประกอบกันด้วย ทั้งหมดคือรากฐานความสำเร็จด้านกีฬาของ เร้ดบูลล์ ที่ทำมาโดยตลอด” รังนิก กล่าวไว้ในปี 2020 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับงานของเขา

 

ที่เหลือก็มารอดูว่า สาลิกาดง จะโน้มน้าวใจให้ “ศาสตราจารย์” มาร่วมงานกันได้ไหมเท่านั้น

Ads ทีเด็ด บอล เต็ง วันนี้ ฟุตบอล วันนี้